สิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ล่วงพ้นวิสัยมนุษย์ธรรมดานั้นมีสามประการคือ
ประการแรก ได้แก่อิทธิปาฏิหาริย์
ได้แก่การกระทำความมหัศจรรย์โลดโผนต่าง ๆ ล่วงพ้นวิสัยของมนุษย์ เช่น คนเดียวทำเป็นหลายคน หลายคนทำเป็นคนเดียว หายตัวไป เหาะเหินเดินอากาศ เดินฝ่ากำแพงภูเขาได้ เดินไปบนน้ำได้ ดำดินได้ ลุยไฟได้ เป็นต้น
ประการที่สอง ได้แก่อาเทศนาปาฏิหาริย์
คือการทายใจหรือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นแล้วกระทำการที่ตรงกับใจเป็นที่อัศจรรย์ ทำให้เกิดความสว่างกระจ่างแจ้ง ตรงกับปัญหาค้างคาอยู่ในใจนั้น
ประการที่สาม ได้แก่อนุสาสนีปาฏิหาริย์
คือการสอนเป็นที่อัศจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยอรรถะ พยัญชนะ งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้รับผลของความรู้นั้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏคำสรรเสริญพระตถาคตเจ้าจากบรรดาผู้ฟังธรรมมากหลายในพระไตรปิฎกว่า “แจ่มแจ้งดังเปิดของคว่ำให้หงายขึ้น
การฝึกฝนอบรมโดยหนทางเจโตวิมุตจะทำให้ได้รับผลหรือบรรลุถึงวิชชาแปดประการ หรือได้รับสมาบัติ หรือฌานสมาบัติแปดประการ คือ
ประการแรก อิทธิวิธิญาณ หรืออิทธิ ฤทธิ์ คือความรู้หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำให้เกิดความสำเร็จหรือความมหัศจรรย์ล่วงพ้นวิสัยมนุษย์ธรรมดา
ประการที่สอง ทิพยโสตญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้หูเป็นทิพย์
ประการที่สาม เจโตปริยญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการรู้ความคิดจิตใจของผู้อื่น
ประการที่สี่ ทิพยจักษุญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้ตาเป็นทิพย์
ประการที่ห้า มโนมยิทธิญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการกระทำความมหัศจรรย์ให้สำเร็จได้ด้วยใจ
ประการที่หก บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการหยั่งรู้อดีตชาติหรือชาติก่อน ๆ ได้
ประการที่เจ็ด จุตูปปาตถญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการหยั่งรู้การเกิด ดับ ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป
ประการที่แปด อาสวัคขยญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งหลาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น