วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปาฏิหารย์

สิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ล่วงพ้นวิสัยมนุษย์ธรรมดานั้นมีสามประการคือ

ประการแรก ได้แก่อิทธิปาฏิหาริย์


ได้แก่การกระทำความมหัศจรรย์โลดโผนต่าง ๆ ล่วงพ้นวิสัยของมนุษย์ เช่น คนเดียวทำเป็นหลายคน หลายคนทำเป็นคนเดียว หายตัวไป เหาะเหินเดินอากาศ เดินฝ่ากำแพงภูเขาได้ เดินไปบนน้ำได้ ดำดินได้ ลุยไฟได้ เป็นต้น

ประการที่สอง ได้แก่อาเทศนาปาฏิหาริย์


คือการทายใจหรือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นแล้วกระทำการที่ตรงกับใจเป็นที่อัศจรรย์ ทำให้เกิดความสว่างกระจ่างแจ้ง ตรงกับปัญหาค้างคาอยู่ในใจนั้น

ประการที่สาม ได้แก่อนุสาสนีปาฏิหาริย์


คือการสอนเป็นที่อัศจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยอรรถะ พยัญชนะ งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้รับผลของความรู้นั้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏคำสรรเสริญพระตถาคตเจ้าจากบรรดาผู้ฟังธรรมมากหลายในพระไตรปิฎกว่า “แจ่มแจ้งดังเปิดของคว่ำให้หงายขึ้น


การฝึกฝนอบรมโดยหนทางเจโตวิมุตจะทำให้ได้รับผลหรือบรรลุถึงวิชชาแปดประการ หรือได้รับสมาบัติ หรือฌานสมาบัติแปดประการ คือ

ประการแรก อิทธิวิธิญาณ หรืออิทธิ ฤทธิ์ คือความรู้หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำให้เกิดความสำเร็จหรือความมหัศจรรย์ล่วงพ้นวิสัยมนุษย์ธรรมดา

ประการที่สอง ทิพยโสตญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้หูเป็นทิพย์

ประการที่สาม เจโตปริยญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการรู้ความคิดจิตใจของผู้อื่น

ประการที่สี่ ทิพยจักษุญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้ตาเป็นทิพย์

ประการที่ห้า มโนมยิทธิญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการกระทำความมหัศจรรย์ให้สำเร็จได้ด้วยใจ

ประการที่หก บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการหยั่งรู้อดีตชาติหรือชาติก่อน ๆ ได้

ประการที่เจ็ด จุตูปปาตถญาณ คือความรู้หรืออำนาจในการหยั่งรู้การเกิด ดับ ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป

ประการที่แปด อาสวัคขยญาณ คือความรู้หรืออำนาจที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งหลาย

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีสอนของพระพุทธเจ้า

1. หลักพื้นฐานการสอน
หลักการสอนที่ดี
1.1 สันทัสสนา การอธิบายให้เห็นชัดเจน แจ่มแจ้ง
1.2 สมาทปนา การจูงใจให้อยากรับไปปฏิบัติ
1.3 สมุตเตชนา การทำให้กล้าหาญและมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จ ได้1.4 สัมปหังสนา การทำให้เบิกบาน ฟังไม่น่าเบื่อ

2. วิธีการสอน
2.1 สอนแบบธรรมดาสากัจฉา (สอนแบบสนทนา)
2.2 สอนแบบบรรยาย
2.3 สอนแบบตอบปัญหา
ปัญหา 4 ประเภท
- ปัญหาตายตัว ตอบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
- ปัญหายอกย้อน ตอบด่วนทันทีไม่ได้ เพราะอาจเกิดความผิดพลาด
- ปัญหาแยกตอบ ต้องแยกประเด็นตอบ อย่าด่วนตอบ
- ปัญหาไม่ตอบ ไม่ต้องตอบเพราะชวนทะเลาะ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และสิ้นเปลืองเวลา
2.4 วิธีสอนแบบวางกฎข้อบังคับ

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อินทร์ พรหม และจตุโลกบาล

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกามีท้าวมหาราชทั้ง ๔ เป็นผู้ปกครองดูแล คอยแบ่งกันครอบครองดังนี้

ด้านทิศตะวันออก
เป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรฐ มีพวกคนธรรพ์ เป็นบริวาร คนธรรพ์ นี้เป็นเทวดาพวกหนึ่งซึ่งที่มีความถนัดในการดนตรีศิลปะระบำรำฟ้อนและชำนาญในการขับกล่อมเพลงยิ่งนัก เมื่อใดที่เทวดาทั้งหลายชุมนุมกันเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน เมื่อนั้นพวกคนธรรพ์ ก็จะไปทำหน้าที่ขับกล่อมเพลงและรำบำรำฟ้อนเพื่อความสำราญของเหล่าเทวดา

ด้านทิศใต้
เป็นที่อยู่ของท้าววิรูปักษ์ มีพวกนาคเป็นบริวาร นาคนี้เป็นพวกกายทิพย์พวกหนึ่ง มีฤทธิ์เดชมาก เพราะเพียงแค่พิษของนาคถูกต้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็สามารถตัดเอาผิวหนังของบุคคลนั้นและทำให้ถึงแก่ความตายได้ในพริบตา พวกนาครู้จักเนรมิตตนเป็น มนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เพื่อท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ตามอัธยาศัยอย่างสุขสำราญหากบุคคลใดได้ยินได้ฟังมาว่าพวกนาคมีอายุยืน มีวรรณะงาม มีความสุขมาก ทำให้ชอบใจ แล้วทำคุณงามความดีด้วยกาย วาจา ใจ พร้อมทั้งปรารถนาไปเกิดเป็นนาค บุคคลนั้นเมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมได้ไปเกิดเป็นนาคในชาติต่อไปสมความปรารถนา

ด้านทิศเหนือ
เป็นที่อยู่ของท้าวเวสวัณหรือ ท้าวเวสสุวัณ มีพวกยักษ์ เป็นบริวาร ยักษ์ นี้เป็นพวกกายทิพย์พวกหนึ่ง มีสันดานแตกต่างกัน บางตนก็มีสันดานดีประกอบด้วยศีลธรรม บางตนก็มีสันดานร้ายมีจิตใจเต็มไปด้วยโทสะโมหะ เป็นอันธพาลที่มีใจกล้าหาญดุดันท้าวเวสวัณมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ท้าวกุเวร เพราะในสมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัตินั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า กุเวร เป็นคนใจดีมีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาชีพด้วยการทำไร่อ้อย นำต้นอ้อยตัดใส่ลงไปในหีบยนต์แล้วบีบน้ำอ้อยขายเลี้ยงชีวิตตนและบุตรภรรยา ต่อมากิจการเจริญขึ้นจนเป็นเจ้าของหีบยนต์สำหรับบีบน้ำอ้อยถึง ๗ เครื่อง จึงสร้างที่พักสำหรับคนเดินทาง และบริจาคน้ำอ้อยจากหีบยนต์เครื่องหนึ่งซึ่งมีประมาณน้ำอ้อยมากกว่าหีบยนต์เครื่องอื่นๆ ให้เป็นทานแก่คนเดินผ่านไปมาจนตลอดอายุขัยด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่บริจาคน้ำอ้อยให้เป็นทานนั้น ทำให้กุเวรได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา มีนามว่า"กุเวรเทพบุตร"ต่อมากุเวรเทพบุตรได้เทวาภิเษกเป็นผู้ปกครองดูแลพระนครด้านทิศเหนือ จึงได้มีพระนามว่า "ท้าวเวสวัณ"

ท้าวมหาราชทั้ง ๔
๑. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุเป็นผู้ปกครองคันธัพพ เทวดาทั้งหมด
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา ทั้งหมด
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคะ เทวดาทั้งหมด
๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

สังเวชนียสถาน (อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน)

แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ

สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น
สังเวชนียสถาน มี 4 แห่ง คือ
สถานที่ประสูติ
สถานที่ตรัสรู้
สถานที่แสดงปฐมเทศนา
สถานที่ปรินิพพาน

สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ ท่านว่าเป็นสถานที่ควรไปเคารพสักการะ ควรไปแสวงบุญ เพื่อให้เกิดความสังเวชและเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศลและความปลาบปลื้มแช่มชื่นใจ

ลุมพินีวัน

เป็นอุทยานที่น่ารื่นรมย์ อยู่กึ่งกลางรหว่างเมืองเทวทหะ

กับกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันเรียกว่า รุมมินเด อำเภอไพราว่า ประเทศเนปาล ห่างจากพรมแดนอินเดียราว 23 กิโลเมคร สิ่งที่ค้นพบ คือ ซากวัดเก่าแก่ สระน้ำที่พระนางสิริมหามายาทรงสนาน, รูปปั้นหินอ่อนตอนพระนางประสูติพระราชโอรส และเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชจารึกไว้ว่า เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า.

พุทธคยา

เป็นสถานที่ตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นต้นที่ 4 นับจากต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ส่วนเจดีย์พุทธคยาที่เห็นนี้ สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ราว พ.ศ. 236 และได้ต่อเติมสมัยพระเจ้าหุวิชกะ กษัตริย์แห่งเมืองมคธโบราณสถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานทั้ง 4 ซึ่งประกอบด้วย สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

สารนาถ
เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนาหรือเทศน์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงธัมจักรกัปปวัตตนสูตร อันเป็นสูตรแรกที่พระองค์ แสดงเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เมื่อแสดงธรรมจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และขออุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรก ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้ง 5 รูป จึงเป็นสาวกรุ่นแรกในพุทธศาสนา เจดีย์ที่เห็นอยู่นี้ เรียกว่า ธัมเมกะสถูป สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันห่างจากเมืองพาราณสี 15 กิโลเมตร



กุสินารา
เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งสถานที่ปรินิพพาน อยู่ในเขตสาลวโนทยาน จังหวัดโครักขปูร์ รัฐอุตตรประเทศ เป็นที่ร่มรื่น มีต้นไม้สาละล้อมรอบ เดิมเป็นสวนของพระเจ้ามัลละกษัตริย์ หลังจากปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วน ปัจจุบันมีพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ 1 องค์

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ธรรม..ทำดี

ผลงาน นร.ที่ แต่งกลอน
รณรงค์ให้คนทำความดี

โดย นร.ชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2553


การทำดี คิดดี และพูดดี
ก็เพราะมีจิตที่เป็นกุศล
การทำดีไม่ต้องมีสิ่งเจือปน
ทุกๆคนทำได้อย่างง่ายดาย
จะทำดีต้องทำเองจึงจะได้
เหมือนว่าไว้ความดีไม่มีขาย
แม้จะมีเงินทองกองมากมาย
จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ทำ


วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระพุทธศาสนากับการเมืองและสันติภาพ

อัตตาธิปไตย

การถือตนเองเป็นใหญ่ คนที่ถือตนจะต้องทำความดี

โลกาธิปไตย

การถือชาวโลกเป็นใหญ่ หมายถึง ถือความคิดเห็นของคนส่วนมากเป็นใหญ่

ธรรมาธิไปตย

คือ การถือความชอบธรรมเป็นใหญ่ เป็นารให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติตนตามหลักธรรม